ประวัติสำนักบริการบริการวิชาการ

ประวัติความเป็นมา

       สำนักงานบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศิลปากร เดิมใช้ชื่อ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16 (2) และ 16 (11) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.2530 โดยสภามหาวิทยาลัยได้วางระเบียบมหาวิทยาลัยศิลปากรว่าด้วยการจัดตั้งและบริหารงานของสำนักบริการวิชาการ พ.ศ.2538 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2538 และต่อมาได้มีการปรับปรุงโดยออกระเบียบมหาวิทยาลัยศิลปากรว่าด้วยการบริหารงานของสำนักบริการวิชาการ พ.ศ.2547 เพื่อให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

       สำนักบริการวิชาการ ได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งมหาวิทยาลัยมีการเปลี่ยนแปลงเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2559 และมีการพิจารณากำหนดส่วนงานใหม่ โดยมหาวิทยาลัย ได้มีการออกระเบียบว่าด้วยการบริหารงานศูนย์หรือหน่วยงานภายในที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งจัดตั้งขึ้นตามภารกิจเฉพาะหรือตามยุทธศาสตร์ของสำนักงานอธิการบดี พ.ศ.2562 จึงมีการเปลี่ยนสถานะของสำนักงานบริการวิชาการเป็นศูนย์ตามภารกิจเฉพาะหรือตามยุทธศาสตร์ของสำนักงานอธิการบดี ภายใต้ระเบียบมหาวิทยาลัยศิลปากรดังกล่าว โดยมีฐานะเทียบเท่ากอง มีระบบบริหารงานที่แยกออกจากระบบการบริหารจัดการของสำนักงานอธิการบดี เป็นหน่วยงานที่มีการดำเนินงานในลักษณะวิสาหกิจ มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการให้บริการทางวิชาการแก่สังคมในแบบต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยสู่สังคม และสามารถหารายได้ให้กับมหาวิทยาลัย

วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง

  1. เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัย ส่วนงาน หรือหน่วยงานในมหาวิทยาลัยรับผิดชอบการบริหารโครงการซึ่งเน้นการให้บริการทางวิชาการแก่สังคมในเชิงธุรกิจเป็นหลัก โดยทำหน้าที่ด้านการติดต่อเจรจาธุรกิจ จัดการเกี่ยวกับเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงในการรับทำโครงการ การบริหารโครงการ รวมไปถึงดูแลผลประโยชน์ที่มหาวิทยาลัยพึงได้จากการดำเนินงานโครงการบริการทางวิชาการ
  2. จัดกิจกรรมบริการทางวิชาการให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกับการจัดการศึกษาที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัย หรือที่มหาวิทยาลัยมีศักยภาพในการให้บริการ
  3. ประสานงานและส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างคณะวิชา หน่วยงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ในลักษณะโครงการบูรณาการหรือสหวิทยาการ
  4. ส่งเสริมให้บุคลากร และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมีโอกาสเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ และทักษะในการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม